การจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การศึกษาในคณะวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีแนวทางและระเบียบต่าง ๆ โดยสังเขป ดังต่อไปนี้ (ยกเว้น แนวทางการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งมีแนวทางที่แตกต่างกันบางประการ ซึ่งจะกล่าวไว้ในตอนท้าย) ส่วนรายละเอียดขอให้ศึกษาจากระเบียบมหาวิทยาลัยฯ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. 2558

ระบบการศึกษา

มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาโดยใช้ระบบทวิภาคเป็นหลัก โดยปีการศึกษาหนึ่ง ๆ มี 2 ภาคการศึกษาปกติ ซึ่งเป็นภาคการศึกษาบังคับ คือ ภาคการศึกษาที่หนึ่ง และภาคการศึกษาที่สอง โดยแต่ละภาคการศึกษาปกติ มีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ และมหาวิทยาลัยอาจเปิดภาคฤดูร้อนเพิ่มอีกได้ ซึ่งเป็นภาคการศึกษาที่ไม่บังคับ มีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 7 สัปดาห์ แต่ให้มีจำนวนชั่วโมงเรียนของแต่ละรายวิชาเท่ากับภาคการศึกษาปกติ

การวัดและประเมินผล

การวัดและประเมินผลในแต่ละรายวิชา ให้วัดและประเมินผลเป็นระดับคะแนน หรือสัญลักษณ์
1. การวัดและประเมินผลเป็นระดับคะแนน มี  8  ระดับ มีความหมาย ดังนี้

ระดับคะแนน ความหมาย ค่าระดับคะแนน
(ต่อหนึ่งหน่วยกิต)
A ดีเยี่ยม (Excellent) 4.0
B+ ดีมาก (Very Good) 3.5
B ดี (Good) 3.0
C+ พอใช้ (Fairly Good) 2.5
C ปานกลาง (Fair) 2.0
D+ อ่อน (Poor) 1.5
D อ่อนมาก (Very Poor) 1.0
E ตกออก (Fail) 0.0

2. การวัดและประเมินผลเป็นสัญลักษณ์ มีความหมายดังนี้
รายวิชาที่ไม่มีจำนวนหน่วยกิต เช่น รายวิชาฝึกงานและรายวิชาที่มีจำนวนหน่วยกิต แต่หลักสูตรกำหนดให้มีการวัดและประเมินผลเป็นสัญลักษณ์ เช่น รายวิชาสหกิจศึกษา หรือรายวิชาที่กำหนดในระเบียบฯ ของคณะ กำหนดสัญลักษณ์ ดังนี้

G (Distinction) หมายความว่า  ผลการศึกษาอยู่ในขั้นดี
P (Pass) หมายความว่า ผลการศึกษาอยู่ในขั้นพอใช้
F (Fail) หมายความว่า ผลการศึกษาอยู่ในขั้นตก

รายวิชาที่ไม่นับหน่วยกิตเป็นหน่วยกิตสะสม กำหนดสัญลักษณ์ ดังนี้

S (Satisfactory) หมายความว่า ผลการศึกษาเป็นที่พอใจ
U (Unsatisfactory) หมายความว่า ผลการศึกษาไม่เป็นที่พอใจ

สัญลักษณ์อื่น ๆ ได้แก่

I (Incomplete) หมายความว่า การวัดและประเมินผลยังไม่สมบูรณ์
W (Withdrawn) หมายความว่า ถอนหรือยกเลิกการลงทะเบียนเรียน
R (Deferred) หมายความว่า เลื่อนกำหนดการวัดและประเมินผลไปเป็นภาคการศึกษาปกติถัดไป ใช้สำหรับรายวิชาที่นักศึกษาได้สัญลักษณ์ I และมิใช่รายวิชาภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ซึ่งอาจารย์ผู้สอนมีความเห็นว่าไม่สามารถวัดและประเมินผลได้ก่อนสิ้น 1 สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาปกติถัดไป โดยมีสาเหตุอันมิใช่ความผิดของนักศึกษา

การทุจริตในการวัดผล  เมื่อมีการตรวจพบว่า นักศึกษาทุจริตในการวัดผล เช่น การสอบรายวิชาใดให้ผู้ที่รับผิดชอบการวัดผลครั้งนั้น หรือผู้ควบคุมการสอบ รายงานการทุจริตพร้อมส่งหลักฐานการทุจริตไปยังคณะที่นักศึกษานั้นสังกัด ตลอดจนแจ้งให้อาจารย์ผู้สอนรายวิชานั้นทราบ โดยให้นักศึกษาที่ทุจริตในการวัดผลดังกล่าวได้ระดับคะแนน  E หรือสัญลักษณ์  F หรือ U ในรายวิชานั้น และอาจพิจารณาโทษทางวินัยประการใดประการหนึ่ง ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่าด้วยวินัยนักศึกษา

สถานภาพนักศึกษา

มหาวิทยาลัยจะจำแนกสถานภาพนักศึกษาตามผลการศึกษาในทุกภาคการศึกษา ทั้งนี้ ไม่นับภาคการศึกษาที่ได้ ลาพักหรือถูกให้พัก สถานภาพนักศึกษามี 3 ประเภท คือ นักศึกษาในภาวะปกติ นักศึกษาในภาวะวิกฤต และนักศึกษาในภาวะรอพินิจ

การลา

การลาป่วยหรือลากิจ  การลาไม่เกิน 7 วัน ในระหว่างเปิดภาคการศึกษา ต้องได้รับการอนุมัติจากอาจารย์ผู้สอนและแจ้งอาจารย์ที่ปรึกษาทราบ ถ้าเกิน  7  วัน ต้องได้รับการอนุมัติจากคณบดี โดยผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา สำหรับงานหรือการสอบที่นักศึกษาได้ขาดไปในช่วงเวลานั้น ให้อยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งอาจจะอนุญาตให้ปฏิบัติงาน หรือสอบทดแทน หรือยกเว้นได้

การลาพักการศึกษา  การลาพักการศึกษาเป็นการลาพักทั้งภาคการศึกษา และถ้าได้ลงทะเบียนเรียนไปแล้ว ให้เป็นการยกเลิกการลงทะเบียน โดยรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนทั้งหมดในภาคการศึกษานั้น จะไม่ปรากฏในใบแสดงผลการศึกษา

การลาออก นักศึกษายื่นใบลาออก พร้อมหนังสือรับรองของผู้ปกครอง  ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อขออนุมัติต่ออธิการบดี ผู้ที่จะได้รับอนุมัติให้ลาออกได้ต้องไม่มีหนี้สินกับมหาวิทยาลัย

การเสนอชื่อเพื่อรับปริญญาและการอนุมัติให้ปริญญา

นักศึกษาที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญาต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน ดังนี้

  1. ได้ศึกษาและผ่านการวัดและประเมินผลรายวิชาต่าง ๆ ครบถ้วนตามหลักสูตรและข้อกำหนดของสาขาวิชาที่จะรับปริญญา โดยไม่มีรายวิชาใดที่ได้สัญลักษณ์ I หรือ R ค้างอยู่ ทั้งนี้นับรวมถึงรายวิชาที่ได้รับการรับโอนและเทียบโอน และนักศึกษาจะต้องผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อพัฒนานักศึกษาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดด้วย
  2. ยังมีสถานภาพเป็นนักศึกษาอยู่และได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม ไม่ต่ำกว่า 2.00 หากเป็นนักศึกษาที่โอนย้ายมาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น จะต้องศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อย่างน้อยหนึ่งปีการศึกษา
  3. ระยะเวลาการสำเร็จการศึกษา
  4. ไม่อยู่ระหว่างการรอพิจารณาโทษทางวินัยนักศึกษา
  5. ได้ปฏิบัติตามระเบียบต่าง ๆ ครบถ้วนและไม่มีหนี้สินใด ๆ ต่อมหาวิทยาลัย
  6. ได้ดำเนินการเพื่อขอรับปริญญาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

การขอเข้าศึกษาเพื่อปริญญาที่สอง

  1. นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่น อาจขอเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาอื่นเป็นการเพิ่มเติมได้
  2. การรับเข้าศึกษา ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการประจำคณะที่นักศึกษาขอเข้าศึกษา และอธิการบดี
  3. การรับโอนและเทียบโอนรายวิชา

การศึกษาสองปริญญาพร้อมกัน

นักศึกษาที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาจขอศึกษาสองปริญญาพร้อมกันได้ โดยต้องเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี  2  หลักสูตร ที่ให้ผู้เรียนศึกษาพร้อมกัน โดยผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจากทั้งสองหลักสูตร

การพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา

  1. ตายหรือลาออก
  2. ต้องโทษทางวินัยให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา
  3. ไม่ได้ลงทะเบียนเรียนภายใน 30 วัน นับจากวันเปิดภาคการศึกษาปกติ โดยมิได้รับการอนุมัติให้ลาพักการศึกษา หรือไม่ได้รักษาสถานภาพ
  4. ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 1.00 ในภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย
  5. ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 1.25 ในสองภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ไม่นับภาคการศึกษาที่ลาพักหรือถูกให้พัก
  6. ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 1.50 ยกเว้นนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียน ในสองภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย
  7. ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 1.70 ในภาคการศึกษาถัดไป หลังจากได้รับภาวะรอพินิจครั้งที่ 1
  8. ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 1.90 ในภาคการศึกษาถัดไป หลังจากได้รับภาวะรอพินิจครั้งที่ 2
  9. ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 2.00 ในภาคการศึกษาถัดไป หลังจากได้รับภาวะรอพินิจครั้งที่ 3
  10. ได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมาแล้ว เป็นระยะเวลาเกิน 2 เท่าของจำนวนปีการศึกษาต่อเนื่องกัน ตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนการศึกษาของสาขาวิชาที่ศึกษาอยู่ สำหรับนักศึกษาที่รับโอนให้นับเวลาที่เคยศึกษาอยู่ในสถาบันเดิมรวมเข้าด้วย
  11. ได้รับการอนุมัติปริญญา
  12. ได้รับการวินิจฉัยโดยคณะกรรมการแพทย์ซึ่งแต่งตั้งโดยอธิการบดี ว่าป่วยจนเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา หรือเป็นอันตรายต่อผู้อื่น ทั้งนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำคณะ

การศึกษาในคณะแพทยศาสตร์

ผู้ที่สอบได้คณะแพทยศาสตร์ จะต้องทำสัญญาการเป็นนักศึกษาและมีสัญญาค้ำประกัน โดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้ค้ำประกันตามประกาศของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว ต้องปฏิบัติงานในส่วนราชการหรือองค์การไม่น้อยกว่า 3 ปีติดต่อกันหากไม่ปฏิบัติตามสัญญา จะต้องชดใช้เงินให้กับมหาวิทยาลัยเป็นจำนวน 400,000 บาท

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเป็นหลักสูตร 6 ปี โดยแบ่งเวลาศึกษาเป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะที่ 1 (Premedical year) ในชั้นปีที่ 1 เป็นการบูรณาการเนื้อหาด้านการศึกษาทั่วไปให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้และยังเชื่อมโยงไปสู่การเรียนในระยะที่ 2 และ 3 ต่อไป เป็นการศึกษารายวิชาของคณะศิลป-ศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์
  2. ระยะที่ 2 (Preclinical years) ในชั้นปีที่ 2 และ 3 เป็นการศึกษาวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์  โดยบูรณาการความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและหน้าที่การทำงานโดยปกติของร่างกายมนุษย์กับพยาธิสภาพต่าง ๆ  อันเป็นพื้นฐานของการเรียนในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
  3. ระยะที่ 3 (Clinical years) ในชั้นปีที่ 4-6 เป็นการเรียนรู้ความผิดปกติหรือโรคต่างๆ  ทั้งทางกายและจิตใจ โดยมีการบูรณาการความรู้จากทฤษฎีกับประสบการณ์ในผู้ป่วยจริง เพื่อให้มีความรู้และทักษะตามเกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภา โดยในชั้นปีที่ 6 จะเป็นการฝึกปฏิบัติงานในการตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยตนเอง ภายใต้ความรับผิดชอบของอาจารย์แพทย์ทั้งในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และโรงพยาบาลสมทบ

ในกรณีที่นักศึกษาไม่สามารถศึกษาจนจบหรือไม่ประสงค์จะเรียนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต สามารถยื่นคำร้องขอรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้  หากนักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียนรายวิชาครบตามโครงสร้างของหลักสูตร

การศึกษาในคณะทันตแพทยศาสตร์

มีสิทธิ์เข้าศึกษาในคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จะต้องทำสัญญาการเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาทันตแพทยศาสตร์และสัญญาค้ำประกันตามประกาศของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้วจะต้องเข้ารับราชการหรือทำงานในสถานศึกษาส่วนราชการหรือองค์กรของรัฐบาลแห่งใดแห่งหนึ่ง ไม่น้อยกว่า 3 ปีติดต่อกันไปนับตั้งแต่วันที่ได้กำหนดในคำสั่ง หากไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่มหาวิทยาลัยเป็นเงินจำนวนเงิน  400,000  บาท   และหากยุติหรือเลิกการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต โดยลาออกจากการเป็นนักศึกษา หรือมีเจตนา จงใจ ละเลย ทอดทิ้งการศึกษาหรือประพฤติตนไม่สมควร จนเป็นเหตุให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา จะต้องชดใช้เงินเป็นเบี้ยปรับให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต

เป็นหลักสูตร 6 ปี กำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่  1  ลงทะเบียนเรียนเป็นระบบทวิภาคและในชั้นปีที่  2  ถึงชั้นปีที่ 6  ลงทะเบียนเรียนเป็นรายปี  ใน 2 ปีแรกนักศึกษาเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปและพื้นฐานทางการแพทย์  ใน  4  ปีหลังนักศึกษาเรียนวิชาทางทันตแพทยศาสตร์และฝึกปฏิบัติทางทันตกรรมทั้งในและนอกสถานที่

นักศึกษาชั้นปีที่  3  และชั้นปีที่  6 ต้องสอบผ่านการสอบประมวลความรู้เพื่อประเมินความรู้ความสามารถระดับการแพทย์พื้นฐานและระดับการแพทย์คลินิก   จึงจะมีสิทธิ์ขอรับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์

นักศึกษาทันตแพทย์ที่ไม่สามารถศึกษาจนจบหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หรือไม่ประสงค์จะศึกษาต่อในหลักสูตรดังกล่าว สามารถยื่นคำร้องขอรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์   เมื่อศึกษาครบหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามหลักสูตรนี้

การศึกษาในคณะเภสัชศาสตร์

การศึกษาเพื่อปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิตของคณะเภสัชศาสตร์ เป็นหลักสูตร 6 ปี จำนวน 2 หลักสูตร  คือ

1. หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2557

ได้รับปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิต หรือ ภ.บ. (เภสัชกรรมอุตสาหการ)  Pharm.D. (Industrial Pharmacy) มี 2 โปรแกรม คือ โปรแกรมแบบปกติ และโปรแกรมแบบก้าวหน้า

โปรแกรมแบบปกติ  มุ่งเน้นสร้างเภสัชกรในภาคอุตสาหกรรมยา ได้แก่

    • เภสัชกรด้านการผลิตที่มีความชำนาญในการพัฒนาระบบคุณภาพและการผลิตยา สมุนไพร เภสัชภัณฑ์สุขภาพ  อาหาร  และเครื่องสำอาง  รวมทั้งมีความสามารถในการวิจัยพัฒนาคิดค้นยาใหม่หรือตำรับยาใหม่ๆ
    • เภสัชกรด้านการตลาดยา สร้างผู้เชี่ยวชาญในการเสนอข้อมูลยาและเภสัชภัณฑ์สุขภาพ
    • เภสัชกรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสร้างศักยภาพที่จะเป็นผู้นำระดับสูงขององค์กรธุรกิจ

อย่างไรก็ตามเภสัชกรที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ยังคงสามารถปฏิบัติงานเป็นเภสัชกรในร้านยา หรือในสถานบริการสุขภาพได้  เช่น การจ่ายยา การผลิตยาในโรงพยาบาล  การจัดซื้อและจัดหายาเข้ามาใช้ในโรงพยาบาล  แต่จะมีความรู้และทักษะในการดูแลด้านการใช้ยาในผู้ป่วยในเชิงลึกไม่มากเท่ากับผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม

โปรแกรมแบบก้าวหน้า (Honors Program) เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับนักศึกษาในหลักสูตรสาขาเภสัชกรรมอุตสหาการที่มีศักยภาพสูงให้มีโอกาสเรียนรายวิชาระดับปริญญาโท-เอก  ในขณะที่ยังศึกษาในระดับปริญญาตรี ทำให้สามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอก โดยมีระยะเวลาการศึกษาในระดับปริญญาโท-เอกลดลง

2. หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2557

ได้รับปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิต หรือ ภ.บ. (การบริบาลทางเภสัชกรรม) Pharm. D. (Pharm. Care)

มีเป้าหมายเพื่อผลิตเภสัชกรที่มีความรู้ ทักษะและความชำนาญในการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมเพื่อดูแลการใช้ยาในผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย สามารถเป็นที่ปรึกษาเรื่องการใช้ยาให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้ และสามารถประสานงานและทำงานเป็นทีมร่วมกับสหวิชาชีพในขณะเดียวกันก็มีความรู้ด้านเภสัชกรรมอุตสาหการในเรื่องยา สมุนไพร  เภสัชภัณฑ์สุขภาพและอาหาร รวมทั้งด้านการบริหารจัดการ ในระดับที่สามารถประยุกต์กับงานบริบาลทางเภสัชกรรมได้

อาชีพที่สามารถประกอบได้ภายหลังสำเร็จการศึกษา:  เภสัชกรในสถานบริการสุขภาพ เภสัชกรชุมชน (ร้านยา) เภสัชกรการตลาด (บริษัทยา) เภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค (สาธารณสุขจังหวัด) เภสัชกรนักวิจัยและพัฒนา เภสัชกรในสถาบันการศึกษา สำหรับเภสัชกรการผลิต ประกันคุณภาพ และขึ้นทะเบียนยา (โรงงาน) นั้น ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขานี้สามารถปฏิบัติงานได้ในระดับหนึ่งแต่จะไม่มีความรู้และทักษะมากเท่ากับผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ

การฝึกปฏิบัติงาน

นักศึกษาทั้ง 2 หลักสูตร จะมีการฝึกปฏิบัติงานภาคฤดูร้อนของชั้นปีที่ 4 ไม่น้อยกว่า 420 ชั่วโมง และในปีสุดท้ายต้องฝึกงานทั้งปีไม่น้อยกว่า 1,680 ชั่วโมง ซึ่งการฝึกปฏิบัติงานมีทั้งภาคบังคับและให้นักศึกษาเลือกเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญในสาขาที่ตนเองสนใจ

ในปีนี้นักศึกษายังคงต้องทำสัญญาการเป็นนักศึกษาและมีสัญญาค้ำประกันโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้ค้ำประกันตามประกาศของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  โดยเมื่อภายหลังจากสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้วต้องปฏิบัติงานในส่วนราชการหรือองค์กรของรัฐบาลต่าง ๆ ตามที่รัฐกำหนดเป็นเวลา  2 ปี ติดต่อกัน หรือชดใช้เงินจำนวน 250,000 บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) สัญญานี้เป็นสัญญาฝ่ายเดียว หากรัฐบาลมีตาแหน่งก็จะประกาศให้ชดใช้ทุน แต่หากรัฐบาลไม่มีตำแหน่ง ผู้สาเร็จการศึกษาก็เป็นอิสระ ไม่ผูกพันกับรัฐบาล

การศึกษาในคณะพยาบาลศาสตร์

ผู้ที่จะศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ นอกจากจะมีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับนักศึกษาคณะอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะดังนี้คือ มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่พิการ หรือทุพพลภาพ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตมีระยะเวลาในการศึกษา 4 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะคือ 2 ปีแรก ศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไปและพื้นฐานวิชาชีพ  2 ปีหลัง ศึกษาเฉพาะวิชาชีพพยาบาลและผดุงครรภ์

นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มีรายวิชาบังคับซึ่งจัดการเรียนการสอนภาคฤดูร้อน 1 ภาคการศึกษา คือชั้นปีที่ 3 การวัดผลรายวิชาชีพการพยาบาลนี้ รายวิชาทฤษฎีจะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 2 และรายวิชาปฏิบัติจะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 2 จึงจะถือว่าสอบได้ในรายวิชานั้น