
สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นชอบให้มีการจัดตั้งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ (College of Computing) ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยรวมหน่วยงานที่มีการจัดการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ 2 หน่วยเข้าด้วยกัน คือ
(1) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาเขตภูเก็ต คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการการผลิตบัณฑิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ระยะเวลา 15 ปี (พ.ศ.2545 - พ.ศ.2560) มีนักศึกษาภายใต้โครงการ จำนวน 16 รุ่น โดยบัณฑิตที่จบมีคุณวุฒิ วศ.บ. (วิศวกรรมคอมพิวเตอร์) และ
(2) สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2548 ผลิตบัณฑิตคุณวุฒิ วท.บ. จำนวน 3 สาขาวิชา (สาขาวิชาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาธุรกิจดิจิทัล (นานาชาติ) สาขาวิชาวิศวกรรมดิจิทัล (นานาชาติ)) และระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 15 รุ่น เพื่อให้แนวทางการจัดการศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์มีความเข้มข้น ดังนั้นการจัดตั้งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์จึงมีเป้าหมายเพื่อบริหารการจัดการศึกษา วิจัย และบริการวิชาการ ในศาสตร์ด้านระบบดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ โดยตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี มุ่งเน้นงานวิชาการและวิจัยการคำนวณและประมวลผลในเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ และการพัฒนาเมืองภูเก็ตอัจฉริยะ พร้อมทั้งการจัดการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์ ภายในวิทยาเขตภูเก็ต
ข้อมูลคณะ
วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มีเป้าหมายเพื่อบริหารการจัดการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ ในศาสตร์ด้านระบบดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ โดยตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ที่มุ่งเน้นงานวิชาการและวิจัยการคำนวณและประมวลผลในเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ และการพัฒนาเมืองภูเก็ตอัจฉริยะ พร้อมทั้งการจัดการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์ ภายในวิทยาเขตภูเก็ต ผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม และเป็นผู้นำทางวิชาการในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระบบดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ชายฝั่งทะเลอันดามันและประเทศไทย โดยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ สำหรับหลักสูตรของวิทยาลัยฯ ในปัจจุบันวิทยาลัยได้เปิดสอนทั้งหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรภาคภาษาไทย โดยหลักสูตรนานาชาติเน้นการใช้ภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอน 100% ในทุกรายวิชา สำหรับหลักสูตรภาคภาษาไทย จะเน้นการเพิ่มเสริมทักษะภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน นอกจากนี้ วิทยาลัยฯ ได้สนับสนุนให้นักศึกษามีประสบการณ์ในการทำงานจริงกับสถานประกอบการ (Work Integrated Learning) เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วนั้น สามารถทำงานได้ทันที โดยนักศึกษาทุกคนสามารถเลือกที่จะเข้าเรียนในแผน ก สหกิจศึกษา คือ ทำงานเสมือนเป็นพนักงานคนหนึ่งของหน่วยงานภายใต้การควบคุมของหน่วยงานหรือองค์กรนั้นร่วมกับคณาจารย์ของวิทยาลัยฯ หรือเลือกจะเข้าเรียนในแผน ข (ฝึกงาน) ซึ่งจะต้องผ่านการฝึกงาน จำนวน 320 ชั่วโมง และสนับสนุนให้นักศึกษามีทักษะในศตวรรษที่ 21 ผ่านการประกวด แข่งขัน ทัศนศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ
จุดเด่นของหลักสูตร
- สาขาวิชาการคอมพิวเตอร์ มุ่งพัฒนาบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศในองค์กร โครงสร้างพื้นฐานของระบบ รวมถึงเทคโนโลยีและวิธีการทางซอฟต์แวร์ เพื่อวิเคราะห์และพยากรณ์ข้อมูลเชิงลึก ออกแบบและผลิตสื่อดิจิทัล และนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างเหมาะสม ด้วยวิธีการเรียนรู้ที่เน้นการฝึกปฏิบัติร่วมกับสถานประกอบการ โดยนักศึกษาสามารถเลือกเรียนรู้ใน 2 ด้าน ได้แก่
1) ด้านปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการข้อมูล (Artificial Intelligence and Data Science)
2) ด้านสื่อดิจิทัล (Digital Media)
- สาขาวิชาวิศวกรรมดิจิทัล (นานาชาติ) มุ่งเน้นศึกษาหลักการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ผ่านการเรียนรู้ที่เหมาะสมจากโครงงานและสถานการณ์จริง อีกทั้งยังผลักดันให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักศึกษาในการพัฒนาระบบอัตโนมัติและอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) ที่อาศัยการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) นักศึกษาสามารถเลือกเรียนรู้ใน 3 ด้าน ได้แก่
1) ด้านวิศวกรรมเครือข่ายและความมั่นคง (Network and Security Engineering)
2) ด้านวัตถุชาญฉลาด (Intelligent Objects)
3) ด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering)
- สาขาวิชาธุรกิจดิจิทัล (นานาชาติ) เน้นประยุกต์ใช้และบูรณาการความรู้ด้านการจัดการธุรกิจและเทคโนโลยีดิจิทัล ในการสนับสนุนการแก้ปัญหาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในวงการธุรกิจดิจิทัล โดยหลักสูตรนี้ประกอบไปด้วยรายวิชาต่าง ๆ เช่น การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) การวิเคราะห์ธุรกิจเชิงสหวิทยาการและวิชวลไลเซชัน (Business Analytics and Visualisation) เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) การจัดการเชิงกลยุทธ์และการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ (Strategic Management and Business Transformation) และ เศรษฐกิจดิจิทัลและสารสนเทศ (Digital and Information Economy) ที่ใช้เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เป็นส่วนสำคัญในยุคปัจจุบัน
- หลักสูตรของวิทยาลัยฯ จะเน้นการเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา โดยได้มีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 100% ในทุกรายวิชาสำหรับหลักสูตรนานาชาติ และมีการเพิ่มเสริมทักษะภาษาอังกฤษนอกห้องเรียนให้กับนักศึกษา
- มีการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วนั้นสามารถทำงานได้ทันที โดยนักศึกษา ทุกคนที่มีศักยภาพสูงจะได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาในแผน ก สหกิจศึกษา ที่ปฏิบัติงานเสมือนเป็นพนักงานคนหนึ่งของหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงานหรือองค์กรร่วมกับคณาจารย์ของวิทยาลัยฯ สำหรับนักศึกษาที่ไม่สามารถเลือก แผน ก จะเข้าเรียนในแผน ข (ฝึกงาน) ซึ่งจะต้องผ่านการฝึกงาน จำนวน 320 ชั่วโมง
- สนับสนุนให้นักศึกษาเข้าฝึกงาน/สหกิจศึกษา และเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ
- สนับสนุนให้นักศึกษามีประสบการณ์ในการทำงานจริงกับสถานประกอบการ (Work Integrated Learning)
- สนับสนุนให้นักศึกษามีทักษะในศตวรรษที่ 21 ผ่านการประกวด แข่งขัน ทัศนศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ
หลักสูตรที่เปิดสอน
ระดับปริญญาตรี
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
-
- สาขาวิชาการคอมพิวเตอร์
- สาขาวิชาธุรกิจดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ)
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
-
- สาขาวิชาวิศวกรรมดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ)
ระดับบัณฑิตศึกษา
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
-
- สาขาวิชาการคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
สีประจำคณะ
#33C0CA | #B52324 |
สีดาร์คเทอควอยซ์ (Dark Turquoise) และ |
สีแดงอิฐ (Fire Brick Red) |
ข้อมูลติดต่อ
สำนักงาน | : | วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต |
80 หมู่ 1 ถ.วิชิตสงคราม ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต 83120 | ||
ติดต่อ | : | โทรศัพท์ +66 (0) 7627 6045, +66 (0) 7627 6000 ต่อ 6471 มือถือ 09 0867 16471 โทรสาร +66 (0) 7627 6046 |
อีเมล | : | coc@phuket.psu.ac.th |
เว็บไซต์ | : | www.computing.psu.ac.th |
: | College of Computing, PSU Phuket Campus | |