
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหน่วยงานที่เริ่มดำเนินการมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ภายใต้ชื่อ “โครงการจัดตั้งคณะวิจิตรศิลป์” ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากทบวงมหาวิทยาลัยให้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งเป็นคณะอย่างเป็นทางการและยังไม่สามารถเปิดรับนักศึกษาได้ ต่อมาเมื่อได้มีการปรับปรุงคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งคณะวิจิตรศิลป์ชุดใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มาจากคณาจารย์และผู้ทรงวุฒิทางด้านศิลปะที่หลากหลายแขนงในวิทยาเขตปัตตานี ทั้งจากคณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา และกองบริการการศึกษาวิทยาเขตปัตตานี ที่ประชุมจึงมีมติเห็นพ้องต้องกันว่า การดำเนินการจัดการศึกษาด้านศิลปะนั้น ควรมีการจัดการศึกษาให้ครอบคลุมศาสตร์ทางด้านศิลปะในทุกๆด้าน ไม่ควรจัดการศึกษาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ดังนั้น คณะกรรมการจัดตั้งคณะวิจิตรศิลป์ชุดดังกล่าว จึงได้มีมติเปลี่ยนชื่อโครงการจัดตั้งคณะวิจิตรศิลป์เป็น “โครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์” เพื่อให้มีความครอบคลุมศิลปะแขนงต่างๆ อย่างครบถ้วน ทั้งทางด้านวิจิตรศิลป์ (Fine Arts) และทางด้านประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts) และได้กำหนดกรอบสาขาวิชาในการจัดการศึกษา 6 สาขาวิชา เพื่อเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาต่อไป ประกอบด้วย
- สาขาวิชาศิลปะการแสดง (ตัดโอนมาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)
- สาขาวิชาศิลปะประยุกต์ (ตัดโอนมาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)
- สาขาวิชาทัศนศิลป์ (สาขาวิชาใหม่)
- สาขาวิชาศิลปะไทย (สาขาวิชาใหม่)
- สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ (สาขาวิชาใหม่)
- สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ (สาขาวิชาใหม่)
ต่อมาเมื่อเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในคราวประชุมครั้งที่ 240 (7/2543) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2543 จึงได้มีมติพิจารณาเรื่องโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อจากโครงการจัดตั้งวิจิตรศิลป์เป็นโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ตามที่รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานีในฐานะประธานคณะกรรมการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์เสนอ และมีมติให้ดำเนินการจัดตั้งเป็นหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยในระดับคณะพร้อมกับอีก 2 หน่วยงาน คือ คณะการบริการและการท่องเที่ยว วิทยาเขตภูเก็ต (ปัจจุบันคือคณะอุตสาหกรรมบริการ) และสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา โดยมีมติที่สำคัญ คือ ให้ตัดโอนแผนกวิชาศิลปะการแสดง และแผนกวิชาศิลปะประยุกต์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์และศิลปะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มารวมกับโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ (โครงการจัดตั้งคณะวิจิตรศิลป์เดิม) เพื่อให้มีความเป็นเอกภาพในการดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาทางศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็ง ตลอดจนมีสาขาวิชาที่หลากหลายและศักยภาพเพียงพอที่จะจัดตั้งเป็นคณะวิชาใหม่ได้ และให้ตัดสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ออกจากโครงสร้างคณะศิลปกรรมศาสตร์ เนื่องจากมองว่าสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์นั้นมีความใกล้เคียงกับเนื้อหาวิชาของคณะวิศวกรรมศาสตร์และเห็นควรจะจัดตั้งเป็นคณะห่างหากและจัดตั้งไว้ที่วิทยาเขตหาดใหญ่เนื่องจากมีฐานทางด้านวิศวกรรมศาสตร์อยู่แล้ว โดยเห็นควรให้จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นหน่วยงานในกำกับที่ขอใช้งบประมาณแผ่นดินโดยได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 9
ทั้งนี้คณะศิลปกรรมศาสตร์ซึ่งได้ดำเนินการรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2545 จำนวน 3 สาขา 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรศิลปบัณฑิตสาขาวิชาทัศนศิลป์ (4 ปี) หลักสูตรศิลปบัณฑิตสาขาวิชาศิลปะการแสดง (4 ปี) และหลักสูตรศิลปบัณฑิตสาขาวิชาศิลปะการแสดง(หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี)
ต่อมาในปีการศึกษา 2546 ได้เปิดรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 1 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาศิลปะประยุกต์ (หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี) ทั้งนี้คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ดำเนินการตามภารกิจการเตรียมความพร้อมในการผลิตบัณฑิต ด้านการวิจัย
ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม และด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ต่อมาในปีการศึกษา 2555 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จากเดิมที่เป็นหลักสูตร “ศิลปบัณฑิต” มาเป็นหลักสูตร “ศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต” เพื่อให้หลักสูตรของคณะครอบคลุมการศึกษาศาสตร์ทางด้านศิลปกรรม ทั้งทางด้านวิจิตรศิลป์และทางด้านประยุกต์ศิลป์ตามเจตนารมณ์การจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ตั้งแต่เริ่มแรกไปพร้อมกัน และเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี ทั้งหมด โดยเปิดสอนใน 3 แขนงวิชาเอก และ 4 แขนงวิชาโท ซึ่งประกอบด้วย
- แขนงวิชาเอกทัศนศิลป์
- แขนงวิชาเอกศิลปะการแสดง
- แขนงวิชาเอกศิลปะประยุกต์
- แขนงวิชาโททัศนศิลป์
- แขนงวิชาโทศิลปะการแสดง
- แขนงวิชาโทศิลปะประยุกต์
- แขนงวิชาโทดนตรีวิจักขณ์
การจัดการศึกษาของคณะศิลปกรรมศาสตร์มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะทางศิลปกรรมตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงเทคนิคขั้นสูง ส่งเสริมให้มีความคิดสร้างสรรค์ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในวิชาชีพ และผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและท้องถิ่น สามารถออกไปประกอบวิชาชีพอิสระและทำงานในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ตามศักยภาพและความถนัดของบัณฑิตแต่ละคน ทั้งนี้ โดยยึดแนวคิดในการผลิตบัณฑิตที่สามารถสร้างสรรค์งานด้านศิลปกรรมที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและของชาติ ตลอดจนส่งเสริมการวิจัยเพื่อค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่และให้บริการวิชาการแก่ชุมชนในภาคใต้รวมถึงการสืบสานวัฒนธรรมของท้องถิ่นของชาติ และระดับนานาชาติต่อไปเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในเร็ววันนี้
คณะศิลปกรรมศาสตร์เปิดรับนักศึกษาครั้งแรกในปีการศึกษา 2545 บริหารงานแบบรวมศูนย์ไม่มีหน่วยงานที่เป็นภาควิชาแต่กำหนดการจัดแบ่งเป็นสาขาวิชาเป็นการภายใน ทั้งนี้เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดการรวม 3 กลุ่มสาขาวิชา คือ สาขาวิชาทัศนศิลป์ สาขาวิชาศิลปะประยุกต์ และสาขาวิชาศิลปะการแสดง (เป็นสาขาวิชาที่รวมทั้งด้านศิลปะการแสดงและด้านดนตรีไว้ด้วยกัน) นอกจากนี้ยังมีฝ่ายสนับสนุนการดำเนินงานอีก 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหารทั่วไป และฝ่ายสนับสนุนวิชาการ นอกจากนี้ในปีการศึกษา 2554 ได้มีการย้ายสาขาวิชาศิลปะการแสดงไปจัดการศึกษาที่วิทยาเขตตรังโดยสังกัด คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ แต่ยังคงเป็นหลักสูตรของคณะศิลปกรรมศาสตร์ และยังคงมีคณาจารย์อีกส่วนหนึ่งยังคงปฏิบัติงานที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ที่วิทยาเขตปัตตานีเช่นเดิม สำหรับแนวโน้มและทิศทางการดำเนินงานของคณะศิลปกรรมศาสตร์ในอนาคตนั้น คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้เตรียมขยายสาขาวิชาที่มีความพร้อมและเป็นความต้องการของสังคม โดยเฉพาะการตอบสนองต่อความต้องการและการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ด้วยมิติทางศิลปะและวัฒนธรรมอีกหลายสาขาวิชา เช่น สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นมุสลิม สาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา สาขาวิชาศิลปะมุสลิม และสาขาวิชามานุษยวิทยาการดนตรี เป็นต้น รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาแบบสหวิทยาการ คือ สาขาวิชาวิทยาการศิลปะและวัฒนธรรม อีกด้วย
ข้อมูลคณะ
คณะศิลปกรรมศาสตร์มุ่งเน้นการดำเนินงานตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย โดยเน้นการปฏิบัติหน้าที่หลักในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการผลิตบัณฑิต การวิจัย การสร้างสรรค์ และการบริการวิชาการ สร้างความเข้มแข็งในด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของบัณฑิต ยกระดับและพัฒนามาตรฐานด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ความเป็นสากล พัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนเพื่อการถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรมสู่มาตรฐานที่ดีมีคุณภาพ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไปในระยะเวลาอันใกล้ ใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงและสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันของกลุ่มประเทศในอาเซียน
- คณะฯ มีหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และการบูรณาการความรู้ในศาสตร์แต่ละแขนงวิชาเข้าด้วยกัน จึงสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจในสาขาวิชาต่างๆได้เป็นอย่างดี
- คณะฯ มีหลักสูตรที่มีความหลากหลาย ทันสมัย และมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ มีทักษะในสาขาวิชาที่ศึกษาจากประสบการณ์ตรง จากการฝึกปฏิบัติ การศึกษาดูงาน การฝึกงาน การวิจัย
- มีคณาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตลอดจนมีการพัฒนาคุณภาพอาจารย์อย่างต่อเนื่อง จึงสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และความเข้าใจทางด้านศิลปกรรมได้อย่างแท้จริง
- บัณฑิตของคณะฯ เป็นที่ต้องการของหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เนื่องจากเป็นแขนงวิชาที่ยังขาดแคลนบัณฑิต ไม่เพียงพอกับความต้องการ
- คณะฯ มีการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม กล่าวคือ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คงธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่นและวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนการปลูกฝังให้นักศึกษาของคณะฯ มีความหวงแหนและสืบสานวัฒนธรรมจนถึงเยาวชนรุ่นหลังต่อไป
สีประจำคณะ
#C3AD1A | สีทอง |
ข้อมูลติดต่อ
สำนักงาน | : | คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี |
181 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 | ||
ติดต่อ | : | โทรศัพท์ 0 7333 7707 โทรสาร 0 7333 7707 |
อีเมล | : | finearts.psu@gmail.com |
เว็บไซต์ | : | finearts.pn.psu.ac.th |
: | คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ | |